คาสิโน ธุรกิจพนัน กับดีเบตระหว่างเศรษฐกิจกับสังคมในสิงคโปร์
การออกมาผลักดันการเปิดบ่อนคาสิโนแบบสุดตัวของ ผบ.ตร.สมยศ ด้วยเหตุผลที่ว่า จะอย่างไรคนไทยก็เล่นการพนันอยู่แล้ว และประเทศไหนๆเขาก็มีกัน กับการคัดค้านการเปิดบ่อนคาสิโนอย่างสุดโต่งของพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากไม่อยากให้ประเทศต้องเสียภาพลักษณ์การท่องเที่ยว ขัดต่อคุณธรรมและหลักค่านิยม 12 ประการ น่าจะเป็นตัวอย่างที่ชวนให้สังเวชใจว่า สำหรับสังคมไทยแล้ว การถกเถียงที่มีเนื้อหาสาระแทบจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย โดยเฉพาะในหมู่ผู้ที่กุมนโยบายและบริหารประเทศ การออกมาพูดรายวันของทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้าน ไม่ได้ช่วยทำให้เกิดความเข้าใจเศรษฐกิจและสังคมของธุรกิจประเภทคาสิโนแต่อย่างใด และที่น่าสนใจคือ ในขณะที่ธุรกิจประเภทนี้เป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในสังคมของหลายประเทศถึงผลได้ ผลเสียที่จะมีต่อสังคม ประชาสังคมในไทยกลับเงียบสนิท
สิงคโปร์มักถูกกล่าวอ้างถึงในฐานะโมเดลของประเทศที่กระโดดเข้าสู่ธุรกิจคาสิโนทีหลังเพื่อน แต่ประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่ง แต่สิ่งที่มักไม่ถูกพูดถึงคือ ธุรกิจคาสิโน หรือที่ถูกแปลงโฉมให้สวยหรูภายใต้ชื่อเรียกใหม่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวว่า “Integrated Resort” หรือรีสอร์ทแบบบูรณาการ เป็นประเด็นที่ดีเบตกันอย่างดุเดือดเผ็ดร้อนมาตั้งแต่การรื้อฟื้นธุรกิจประเภทนี้ขึ้นมาใหม่ในปี 2004 และยังคงเป็นประเด็นที่ถูกนำมาถกเถียงในสื่อและพื้นที่สาธารณะมาจวบจนปัจจุบัน
พึงเข้าใจไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า ข้อเสนอให้จัดตั้งคาสิโนอย่างถูกกฎหมายเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและนำรายได้เข้าประเทศ ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นในสิงคโปร์ แต่เป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมานับตั้งแต่เริ่มสร้างประเทศ และในทุกครั้งที่ประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤตทางเศรษฐกิจ ในปี 1965 1967 1970 และ 1985 ตามลำดับ ข้อเสนอดังกล่าวมาจากทั้งสมาชิกของพรรครัฐบาลเอง และจากนักลงทุน แต่ในทุกครั้ง ข้อเสนอได้ถูกปัดตกไปโดยลีกวนยู ผู้นำประเทศ ผู้ใช้เหตุผลเชิงศีลธรรมของ Asian Value ในการคัดค้านธุรกิจนำเข้าอันเป็นผลผลิตของความทันสมัยแบบตะวันตกประเภทนี้ว่า คาสิโนจะมีได้ก็ต่อเมื่อเขาตายไปแล้วเท่านั้น (“over my dead body”) แม้แต่ในปี 2001 ที่ประเทศประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ลีเซียนลุง ซึ่งขณะนั้นเป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีการคลัง ก็ปฏิเสธที่จะพิจารณาข้อเสนอเรื่องคาสิโน โดยกล่าวว่า “อันตรายเชิงสังคมนั้นมีมากกว่ารายได้ที่จะเกิดขึ้น”
ในปี 2004 ทั้งลีกวนยู และลีเซียนลุง ได้เปลี่ยนท่าทีที่มีต่อธุรกิจคาสิโนโดยสิ้นเชิงแบบกลืนนำ้ลายตนเองโดยกล่าวว่า สิงคโปร์จำเป็นต้องปรับตำแหน่งแห่งที่ของตนเสียใหม่ในเศรษฐกิจโลก และสถานการณ์ต่างๆได้เปลี่ยนไปแล้ว สิงคโปร์จำเป็นต้องมีจุดขายที่ต่างไปจากประเทศอื่นๆในเอเชีย หากต้องการจะเป็น Cosmopolitan hub ในโลก ท่าทีที่ Sim Joshua (2013) เสนอว่า สะท้อนการเปลี่ยนแนวคิดที่มีต่อความทันสมัยในหมู่ผู้นำสิงคโปร์เพื่อตอบรับกับกระแสเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ที่แข่งขันกันอย่างเข้มข้นในปัจจุบัน ซึ่งได้ทำให้แนวคิดเชิงศึลธรรมกลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัย ในปี 2005 ลีเซียนลุง ได้ยกเลิกคำสั่งห้ามมิให้มีคาสิโนอันเป็นนโยบายที่มีมายาวนานกว่า 40 ปีในสิงคโปร์
แม้ว่าสิงคโปร์จะเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ประชากรเล่นการพนันสูงเป็นอันดับสองของโลกนับแต่ปี 2002 เป็นต้นมา แต่ข้อเสนอเรื่องรีสอร์ทแบบบูรณาการ กลับได้รับการต่อต้านอย่างหนักจากประชาชนในสิงคโปร์ สิ่งที่น่าสนใจ และมักไม่ถูกพูดถึงคือ กลุ่มองค์กรที่เป็นตัวตั้งตัวตีรณรงค์คัดค้านการออกใบอนุญาตคาสิโน นอกจากจะมาจากองค์กรทางศาสนาต่างๆแล้ว กลุ่มที่มีบทบาทสำคัญยังได้แก่องค์กรเอกชนที่ทำงานด้านผู้หญิงและครอบครัว อาทิ AWARE (Association of Women for Action and Research) และ FACTS (Families Against Casino Threats in Singapore) ซึ่งได้ร่วมกันล่าลายชื่อจากประชาชนกว่า 30,000 คนเพื่อกดดันให้รัฐยกเลิกการจัดตั้งคาสิโนเสีย
ภายใต้กระแสคัดค้านที่ดังมาจากกลุ่มองค์กรต่างๆทั่วประเทศ ซึ่งรวมถึงสมาชิกทั้งในพรรครัฐบาลเองและพรรคฝ่ายค้าน ลีเซียนลุงได้ตัดสินใจจัดให้มี “การปรึกษาหารือสาธารณะ” โดยเปิดให้ประชาชนส่งความเห็นที่มีต่อการเปิดให้มีการตั้งคาสิโนมายังรัฐบาล มีการจัดทำโพล การสำรวจความคิดเห็น การจัดดีเบต ในตลอดช่วงปี 2004 ซึ่งมีจดหมาย อีเมล์ และแฟกซ์กว่า 700 ฉบับไปถึงรัฐบาล ผลสำรวจประชาชนจำนวน 903 คน ได้แสดงให้เห็นว่ากว่าครึ่งหนึ่งของประชากรที่สำรวจต่างเห็นด้วยว่าคาสิโนจะนำรายได้เชิงเศรษฐกิจมาสู่ประเทศ แต่เกือบทั้งหมดของประชากรเหล่านี้ ไม่คิดว่าผลได้จากคาสิโนจะมีมากกว่าผลเสียหายทางสังคมที่จะเกิดขึ้น
ข้อถกเถียงสำคัญในสิงคโปร์เกี่ยวกับคาสิโนจึงไม่ใช่เรื่องศีลธรรมหรือคุณธรรม แต่เป็นปัญหาทางสังคมอันจะเกิดขึ้นจากการก่อตั้งแหล่งการพนันขนาดใหญ่ขึ้นในประเทศ สิ่งที่น่าสนใจคือ ชาวสิงคโปร์แยกแยะความแตกต่างระหว่างการพนันทั่วไป กับแหล่งการพนันขนาดใหญ่ แม้ว่าการพนัน ไม่ว่าจะเป็นการเล่นไพ่ มาจอง ล๊อตเตอรี่ จะเป็นสิ่งที่มีอยู่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน การละเล่นเหล่านั้นถือเป็นงานอดิเรก และวงเงินพนันไม่สูง ในขณะที่การพนันม้าแข่ง หรือพนันบอล มักจำกัดอยู่ในกลุ่มเฉพาะ และดังนั้นจึงมักเป็นการพนันในวงปิด
ในทางตรงกันข้าม คนสิงคโปร์เห็นว่า การพนันในบ่อนคาสิโน ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะพนัน สล็อตแมชชีน บาคาร่า ตลอดจนสถานที่ที่จัดไว้ให้สำหรับการเล่นพนัน นั้นถือเป็นกิจกรรมการพนันเต็มรูปแบบ และดังนั้นจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ง่ายต่อการส่งเสริมให้เกิดภาวะการติดการพนัน การเสียพนัน และการสิ้นเนื้อประดาตัว สำหรับสังคมในเอเชียที่มีฐานสำคัญมาจากครอบครัวขยายแล้ว ปัญหาผู้ติดการพนันดังกล่าวมักตกหนักและส่งผลต่อครอบครัว ตลอดจนปัญหาอาชญากรรมที่จะเพิ่มมากขึ้นอันเนื่องมาจากภาวะการติดการพนันอีกด้วย ผู้สมัครส.ส.รายหนึ่งของสิงคโปร์ได้ตั้งคำถามต่อรัฐบาลว่า ความร้าวฉานและความรุนแรงในครอบครัวที่เป็นผลจากการติดการพนัน แม้เพียงครอบครัวเดียว ถือว่าคุ้มหรือไม่กับผลได้ทางเศรษฐกิจจากคาสิโน และจะต้องให้มีคนตายสักเท่าไหร่จึงจะตระหนักกันได้ถึงผลกระทบที่คาสิโนมีต่อสังคม?
แม้ในท่ามกลางเสียงคัดค้านอย่างหนักหน่วงในประเทศที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นสิ่งต้องห้าม นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ตัดสินใจในการเดินหน้าเปิดให้จัดตั้งคาสิโนขึ้นในประเทศในปี 2005 และปฏิเสธที่จะเปิดให้มีการทำประชามติ แม้จะมีเสียงเรียกร้องจากฝ่ายที่คัดค้านก็ตามที บริษัทที่ชนะการประมูลได้แก่ Las Vegas Sands จากสหรัฐฯ ซึ่งได้รับอนุญาตให้ลงทุนในพื้นที่ Marina Bay มาริน่า เบร์ และ Genting International และ Star Cruise จากมาเลเซีย ได้สิทธิตั้ง คาสิโน ที่ Sentosa ทั้งสองแห่งเปิดทำการในปี 2010 และนำรายได้เข้าประเทศกว่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐเฉพาะปี 2013 และเพียงสี่ปีได้เพิ่มตัวเลขให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวถึง 14.4 ล้านเหรียญ ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวก่อนการเปิดคาสิโน
รัฐบาลสิงคโปร์รับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทางสังคมอันเนื่องมาจากการเปิดบ่อนการพนันครบวงจรขนาดใหญ่ด้วยการออกกฎหมายควบคุมคาสิโน ตั้งคณะกรรมการควบคุมกำกับคาสิโน ตั้งสภาแห่งชาติว่าด้วยการติดการพนัน ตลอดจนเพิ่มหน่วยพิเศษเกี่ยวกับอาชกรรมด้านการพนันขึ้นในกรมตำรวจ
มาตรการต่างๆถูกนำมาใช้เพื่อควบคุมกำกับคาสิโนและตอบโจทย์ทางสังคมของฝ่ายที่คัดค้าน อาทิ การบังคับให้ผู้ที่เข้าคาสิโนต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 100 เหรียญต่อค่าเข้าหนึ่งครั้งภายใน 24 ชั่วโมง หรือ 2,000 เหรียญ ไม่จำกัดจำนวนใน 12 เดือน ห้ามผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินจากรัฐหรือมีปัญหาล้มละลายด้านการเงินเข้าคาสิโน ห้ามรับบัตรเครดิตจากผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในสิงคโปร์ ห้ามมิให้มีการโฆษณาเกี่ยวกับคาสิโนในสื่อท้องถิ่น ตลอดจนกำหนดบทลงโทษและค่าปรับต่างๆหากผู้ลงทุนฝ่าฝืนกฎเหล่านี้ ฯลฯ
แม้ว่าสิงคโปร์จะมีวิธีการจัดการกับผลกระทบทางสังคมจากการพนันขนาดใหญ่ในแบบฉบับของสิงคโปร์ ที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งนำมาซึ่งเสียงบ่นจากนักลงทุน แต่ดูเหมือนดีเบตว่าด้วยคาสิโน ก็ยังคงดำเนินต่อเนื่องแม้ย่างเข้าปีที่ห้าของธุรกิจประเภทนี้ ทั้งรัฐบาลและฝ่ายคัดค้าน ต่างก็ทำการสำรวจผลกระทบด้านต่างๆที่เกิดจากบ่อนขนาดใหญ่เพื่อสนับสนุนจุดยืนของแต่ละฝ่าย ตัวเลขของรายได้จากคาสิโนเติบโตควบคู่ไปกับตัวเลขการสูญเสียการพนัน และการเติบโตของธุรกิจโรงจำนำซึ่งลูกค้าจำนวนไม่น้อยมาจากผู้ที่สูญเสียจากการพนัน เช่นเดียวกับจำนวนผู้ที่เข้าบำบัดการติดพนันตลอดจนแสวงหาความช่วยเหลือจากภาวะดังกล่าวที่ได้เพิ่มจำนวนมากขึ้น ซึ่งยังไม่รวมถึงการพนันออนไลน์ซึ่งเติบโตต่อเนื่องจากอุตสาหกรรมคาสิโนก่อนหน้านี้
สำหรับสิงคโปร์ คำถามที่สำคัญในปัจจุบันยังคงเป็นเรื่องที่ว่า แม้ในท่ามกลางมาตรการต่างๆของรัฐ เหตุใดบ่อนพนันขนาดใหญ่จึงยังคงไม่ปลอดภัยต่อสังคมและครอบครัว และเป็นไปได้หรือที่ผู้กุมนโยบายจะสามารถทำให้คาสิโนปลอดภัยต่อสังคมและครอบครัวได้มากขึ้น และในแนวทางเช่นไร คำถามเหล่านี้ เรียกร้องให้มีการสำรวจและศึกษาวิจัยเพื่อนำข้อมูลต่างๆมาเผยแพร่และถกเถียงกันอย่างเป็นเหตุเป็นผล ตลอดจนผลักดันมาตรการที่ตอบปัญหาของสังคมมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
สิงคโปร์โมเด็ลจึงไม่ได้มีแต่ด้านที่เป็นเม็ดเงิน หากแต่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานในดีเบตระหว่างการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และการแตกสลายของครอบครัวและสังคม ที่ยังคงถกเถียงกันไม่เสร็จมาจนปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องเรียนรู้หากคิดจะเดินตามก้นเขา แต่ดูเหมือนสิ่งที่ปรากฎอยู่ในข่าวประจำวันของไทยว่าด้วยคาสิโน หากไม่ใช่การฝันเฟื่องอยากจะร่ำรวย ก็คิดได้เพียงแค่คาบศีลธรรมขึ้นธรรมาสเทศนาคุณธรรมโดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางปัญญาใดๆแม้แต่น้อย ในขณะที่ประชาชนและชาวบ้านได้แต่มองตากันปริบๆ